จากความรู้ที่แสนจะธรรมดาสู่การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่

avatar
Benyalai Admin
15 Jan 2018

ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านกันก่อน เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความแรกของผม ฉะนั้นผมจึงขอแนะนำตนเองให้ท่านผู้อ่านรู้จักกันก่อน เผื่อหากจะเรียกใช้บริการผมจะได้มีช่องทางในการติดต่อกันครับ ผมนายชนะพงษ์ บุญมี ชื่อเรียกในด้านไอทีที่รู้จักกันคือ ป๊อกซ่าไอที ครับ ปัจจุบันผมทำงานในตำแหน่งพนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่ออยู่ที่สำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ผมก็ขอเกลิ่นพอหอมปากหอมคอเกี่ยวกับประวัติของผมเท่านี้ก่อนครับ จากหัวข้อบทความที่ท่านผู้อ่านได้เห็นนั้นอาจอ่านแล้วงงว่าจากความรู้ที่แสนจะธรรมดาสู่การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่นั้นคืออะไร ผมจะค่อยคลายข้อสงสัยแก่ท่านผู้อ่านต่อไป ขอเชิญติดตาม

ตำแหน่งพนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อ รับผิดชอบงานอะไรบ้าง?

ซึ่งตำแหน่งผมนั้นหากจะกล่าวโดยรวมแล้วก็เป็นตำแหน่งที่คอยตรวจสอบมาตรฐานสื่อทุกชนิดก่อนที่จะให้บริการคนตาบอดที่เป็นสมาชิกของสำนักหอสมุดเบญญาลัย ไม่ว่าจะเป็นสื่ออีเบรลล์ คือ ไฟล์เบรลล์ที่จัดพิมพ์จากหนังสือหรือเอกสารต่างๆให้มาอยู่ในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถนำไปพิม์ออกมาเป็นเอกสารหรือโหลดไปอ่านยังเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ ถัดมาเป็นสื่อเดซี คือ สื่อที่มีเฉพาะเสียงเฉพาะตัวหนังสือหรือทั้งเสียงทั้งตัวหนังสือก็ได้ โดยการจัดทำก็จะมีอาสาเข้ามาบันทึกเสียงอ่านแล้วผมซึ่งเป็นผู้ตรวจประเมินก็จะนำสื่อนั้นมาตัดต่อส่งฝ่ายบรรณารักษ์อัพโหลดขึ้นให้บริการอีกที สุดท้ายเป็นสื่อที่ให้บริการบนเว็บไซต์สำนักหอสมุดเบญญาลัย ซึ่งถ้าพูดถึงแล้วก็นับว่ากว้างอย่างมาก เพราะสื่อใดๆก็ตามที่อัพโหลดให้บริการบนเว็บไซต์ เช่น ข้อความต่างๆ ทั้งที่เจ้าหน้าที่อัพโหลด หรือสมาชิกของสำนักหอสมุดเบญญาลัยที่เข้ามาใช้บริการบนเว็บไซต์เป็นผู้อัพโหลดผมก็จะต้องคอยสอดส่องตรวจสอบมาตรฐานเสมอ หากพบว่าข้อความใดไม่เหมาะสม หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเว็บไซต์คนตาบอดไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงได้ไม่ดีก็จะส่งข้อบกพร่องไปยังผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป นอกจากความรับผิดชอบหลักที่กล่าวแล้วผมยังมีความรับผิดชอบอื่นๆ ได้แก่ บริการอาสาที่มาบันทึกเสียงอ่านหนังสือ ตรวจสอบห้องบันทึกเสียงให้พร้อมบริการอยู่เสมอ รวมถึงเป็นวิทยากรแนะนำการบันทึกเสียงอ่านหนังสือในโอกาสต่างๆ นี่ก็เป็นความรับผิดชอบของผมในตำแหน่งพนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อ

จากตำแหน่งนี้ผันตัวเองมาสู่บริการไอทีแก่คนตาบอดได้อย่างไร?

หากจะกล่าวแล้วในความรับผิดชอบในตำแหน่งพนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อของผมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริการเทคโนโลยีแก่คนตาบอดเลยสักนิด แต่เนื่องจากตัวผมนั้นศึกษาเทคโนโลยีและคลุกคลีกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดมาตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยม ทำให้มีความคุ้นเคยและชำนาญกับการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคนตาบอดอยู่บ้าง ซึ่งก็มีคนตาบอดเข้ามาขอรับบริการด้านเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย ซึ่งผู้ที่มาขอรับบริการบางท่านเล่าว่า กว่าจะมาเจอที่นี่ก็ไปมาหลายที่ ซึ่งก็อาจจะไม่สะดวกเพราะด้วยละยะทาง และช่วงเวลาให้บริการ แถมมิหนำซ้ำต้องเทียวไปมาหลายครั้ง และนี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมเข้ามาสู่บริการไอทีแก่คนตาบอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าพนักงานบริการเทคโนโลยีจะหยุดให้บริการนะครับก็ยังบริการกันเหมือนเดิม ซึ่งการที่ผมได้เข้าไปช่วยงานบริการเทคโนโลยีแก่คนตาบอดนั้นก็ทำให้ผมได้แรกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ทั้งในแง่มุมของคนตาบอดและคนสายตาปกติ ลืมกล่าวไปครับว่าพนักงานบริการเทคโนโลยีเป็นคนสายตาปกติครับหรือที่คนตาบอดมักเรียกติดปากว่า “คนตาดี” โดยบางทีก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าครับ เมื่อมีผู้มาขอรับบริการ หากพนักงานบริการเทคโนโลยีติดขัดในส่วนใดก็มักจะขอให้ผมไปช่วย ในระหว่างที่ผมบริการเทคโนโลยีอยู่นั้น หาก notebook หรือ smart phone ไม่มีเสียงพูดให้ผมผมก็จะขอความช่วยเหลือจากพนักงานบริการไอทีให้ช่วยอ่านหน้าจอและตั้งค่าตามที่ผมต้องการ ซึ่งก็นับว่ามีความสุข และรู้สึกยินดีที่ผู้มาขอรับบริการที่เป็นคนตาบอดสามารถนำอุปกรณ์เทคโนโลยีของเขากลับไปใช้งานได้ตามที่เขาตั้งใจและมีความสุขกับการใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้น

จากความรู้ที่แสนจะธรรมดาสู่การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่

อ่านมาถึงตรงนี้ผมก็จะขอกล่าวในหัวข้อบทความว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ขอย้อนไปสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมและอุดมศึกษา ซึ่งตอนที่เรียนผมก็มักจะติดตามเทคโนโลยีต่างๆอยู่เสมอ และก็จะอดไม่ได้ที่จะไขว่คว้ามาเป็นเจ้าของในงบที่พอจะเอื้อมถึง ส่วนที่เอื้อมไม่ถึงนั้นก็จะอาศัยลูบๆคลำๆศึกษาจากคนรอบข้าง โดยในบางครั้งผมก็นึกวาดภาพว่าถ้าเรามีงานอะไรทำสักงานหนึ่งก็คงจะดีไม่น้อย งานในระหว่างเรียนหมดหวังไปเลยครับ เพราะเราตาบอดก็คงยากที่ใครจะมาจ้างให้เราทำงานในระหว่างเรียน ส่วนเพื่อนที่สายตาปกติเขาก็สามารถหางานระหว่างเรียนได้เรื่อยๆ มีเงินเก็บก็เยอะ ไม่มีเก็บก็แยะ ส่วนผมแทบจะไม่มีเก็บเลย ซึ่งในตอนนั้นความสามารถเด่นๆที่ผมมีก็คือ การติดตั้งโปรแกรมและการเลือกซื้อบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ครูอาจารย์ ญาติพี่น้องไม่ว่าจะเป็นคนสายตาปกติหรือคนตาบอด จนเป็นที่ยอมรับ หากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีมีปัญหาต้องโทรปรึกษาป๊อกซ่าไอทีทันใด ก็ได้ค่าขนมเล็กๆน้อยๆ พอที่จะเก็บหอมรอมริบซื้ออุปกรณ์ไอทีสักชิ้นสองชิ้น บางทีผมก็นึกท้อใจเหมือนกันครับว่า ทำไมความรู้ที่เรามีถึงไม่สามารถสร้างอาชีพเลี้ยงตัวได้ หากผมสายตาปกติคงประกอบอาชีพเก็บเงินเป็นกอบเป็นกำได้มากมาย แต่ฟ้าก็ยังไม่ทอดทิ้งผมเกินไปนัก หลังจากที่ผมเรียนจบผมก็ได้มีโอกาสมาเป็นอาสาที่สำนักหอสมุดเบญญาลัยอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีตำแหน่งว่างผมจึงได้สมัครเข้ามาทำงานในตำแหน่งพนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อ ซึ่งที่แห่งนี้เองผมได้เริ่มต้นนำความรู้ที่ผมมีมาช่วยเหลือคนตาบอดและคนสายตาปกติ ได้แรกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้ความรู้ที่ผมมีนั้นก้าวหน้าและพัฒนาอยู่เสมอ

“ผมโชคดีที่ได้มาเจอครู ได้มาเรียนรู้การใช้โทรศัพท์กับครู”

“หากผมได้มาเจอครูเร็วกว่านี้ ผมคงใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์ และทำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น”

“ผมไม่อยากให้ครูไปไหนเลยครับ ผมอยากให้ครูอยู่ที่นี่นานๆ”

“เทคโนโลยีทำให้ผมไม่แตกต่างจากคนสายตาปกติ”

นี่เป็นคำพูดบางส่วนของผู้ที่มารับบริการกับผม ซึ่งทำให้ผมมีกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือทุกคนต่อไป สุดท้ายผมอยากจะบอกท่านผู้อ่านว่า “สังคมจะอยู่ได้ ก็ด้วยการแบ่งปัน” แล้วกลับมาพบกันใหม่ในบทความฉบับหน้าครับ

 

SHARE ON SOCIAL MEDIA :