ความฝันที่ไม่เคยมืดดับของทัพนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติ

avatar
บรรณกรร ขีดเหมาะ
08 Mar 2021

พรทิพย์ ชนะศุภชัย : เรื่อง
ประติรพ พรหมบุตร : ภาพ

ความฝันที่ไม่เคยมืดดับของทัพนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติ

始め! ฮาจิเมะ : เริ่มต้น
เวลา 10 : 00 น.

“กริ๊ง!”

 เสียงออดส่งสัญญาณชั่วโมงเรียนประสานเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กนักเรียนโรงเรียนบูรณวิทย์ โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางพลัดดังแต่ไกลในยามเช้าของวัน

 ระหว่างที่แม่ครัวกำลังตระเตรียมมื้อกลางวันแก่เด็กๆ ในอาคารโรงอาหารอย่างขะมักเขม้น ใกล้กันนั้นจะพบลานกว้างยกระดับเหนือพื้นดินไม่เกิน 1 เมตร เบาะรองพื้นถูกคลุมด้วยผ้าผืนสีดำขนาดใหญ่ ล้อมรอบไปด้วยผนังสีฟ้าอ่อน แต่งแต้มด้วยภาพเขียนรูปธงชาติไทยและธงชาติญี่ปุ่นขนาบกรอบภาพขาวดำของชายสูงวัยผู้หนึ่งนามว่า “คาโน จิโกโร” (嘉納 治五郎) ผู้ให้กำเนิดศิลปะการต่อสู้ยูโด (柔道)

ปรมาจารย์คาโน จิโกโร ก่อตั้งกีฬายูโดในปี 2425 โดยดัดแปลงมาจากศิลปะการต่อสู้ยิวยิตสูให้มีความอันตรายต่อผู้เล่นน้อยลง แล้วเพิ่มเทคนิคเชิงกีฬามากขึ้น ยูโดมากจากคำว่าจู (柔)หมายถึงความสุภาพ อ่อนโยน และโด(道)หมายถึงมรรควิธี รวมกันแล้วแปลได้ว่ามรรควิธีแห่งความสุภาพ มีหลักปรัชญาสำคัญของกีฬานี้สองประการ คือ เซเรียวคุเซ็นโย (精力善用) หมายถึงกายและใจรวมเป็นหนึ่ง และจิตะเคียวเอ (自他共栄) หมายถึงการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้เจริญรุ่งเรือง

หลังจากนั้นคาโน จิโกโรได้ก่อตั้งสำนักวิชาโคโดคัง (講道館) เพื่อถ่ายทอดวิชายูโดในกรุงโตเกียว จนได้รับการพัฒนาและการยอมรับจากนานาชาติ ให้บรรจุอยู่ในรายการการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2507 เป็นครั้งแรก และยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับลานกว้างแห่งนี้ เชื่อไหมว่าที่นี่คือสถานที่ฝึกซ้อมของเหล่าทัพนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติไทย

รูปภาพ นักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติกำลังซ้อมยูโด

รูปภาพเด็กนักเรียนอยู่ในสถานที่ซ้อมยูโด 

 ภาพการนั้งทำความเคารพก่อนที่จะซ้อม

 

精力善用 เซเรียวคุเซ็นโย : ใจและกายผสานเป็นหนึ่ง

วันหนึ่งในเดือนธันวาคม 2563

“ขึ้นไปคุยกันที่ออฟฟิศชั้น 2 ไหม ข้างบนมีแอร์น่าจะดีกว่า”

ชายวัยกลางคน ร่างท้วม ผิวดำแดง กล่าวชักชวนระหว่างตนเพิ่งถึงที่หมายด้วยอาการเหนื่อยหอบจากการเดินทางอันเร่งรีบ ภาคภูมิ เทียนทอง หรือที่เหล่านักกีฬายูโดคนตาบอดต่างเรียกกันว่า “โค้ชโต้ง”

จุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการกีฬายูโดด้วยเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร

“เพื่อนชวน” โค้ชโต้งหัวเราะกับความหลัง ในช่วงสมัยตนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ด้วยการเล่นไปเล่นมาจนเกิดอาการหลงรัก ประกอบกับติดโควตาทุนช้างเผือกตอนเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้โค้ชโต้งเล่นกีฬายูโดจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่โค้ชโต้งห่างไป เพราะชีวิตการทำงานไม่เหลือเวลาให้ทำในสิ่งที่เขารัก

“ผมออกไปทำงานตามสายที่เรียนมา จบนิเทศศาสตร์ ทำงานข่าวสายกีฬาให้มติชนอยู่พักหนึ่ง แล้วมาทำ PR Agency เขียนข่าวสักพัก ตอนนั้นออกงานจับฉ่าย ต่อมาทางบ้านอยากให้ทำงานกับอาที่เป็นฝ่ายช่างของการบินไทย เขาอยากให้เราทำก็ทำ พอทำสัก 3 ปี ออก! เพราะตรงนั้นเราไม่ได้เจอใคร เจอแต่เพื่อนร่วมงานอย่างเดียว ไม่ได้เจอเพื่อนที่เคยซ้อมยูโดเลย”

เนื่องด้วยอุปกรณ์กีฬาของโรงเรียนบูรณวิทย์มีพร้อมกว่าที่อื่น ประกอบกับการเดินทางสะดวก และความรักในกีฬายูโดของผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโรงเรียนบูรณวิทย์ ดร.สมบัติ พิพัฒน์พงศ์ อดีตนายกสมาคมยูโดแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมยูโดคนตาบอดแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน จึงสนับสนุนให้ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกซ้อมของนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติ จนตอนนี้โค้ชโต้งทำหน้าที่ฝึกสอนที่นี่ และกินอยู่ ดูแลนักกีฬาในหอพักเก็บตัวข้างโรงเรียนสตรีบูรณวิทย์มานานกว่า 15 ปีแล้ว

“ห้องที่ผมนอนกับนักกีฬาด้วย เขาจะเดินป้วนเปี้ยนคุยกันทุกวัน ข้อดีของการอยู่กับน้องๆ คือไม่เหงา เพราะว่ามันเป็นการสื่อสารทางเดียวของเขา”

ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โค้ชและนักกีฬาเริ่มต้นฝึกซ้อมจากการวิ่งรอบห้างโลตัสสาขาจรัญสนิทวงศ์ในช่วงเช้า โดยมีโค้ชหนีบแขนนำทางวิ่งให้ หากนักกีฬาระดับ B2 และ B3 คือพอมองเห็นเลือนรางอยู่ในทีม ก็จะเป็นผู้ช่วยโค้ชวิ่งนำทางแก่นักกีฬาพิการระดับ B1 คือตาบอดสนิทอีกแรง ต่อด้วยการขึ้นเบาะ หรือการซ้อมล้มอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่น และรู้จักแพ้ให้เป็น รู้จักตนเองก่อนที่จะสนใจคู่ต่อสู้ภายนอก ซึ่งเป็นการสอนขั้นพื้นฐานของวิชายูโด แล้วซ้อมต่อสู้จริงเวลา 5 โมงเย็นจนถึง 1 ทุ่ม ส่วนวันเสาร์มีแค่โปรแกรมวิ่งช่วงเช้า และวันอาทิตย์ปล่อยให้นักกีฬาพักผ่อนตามอัธยาศัย

“กดดันนิดหน่อย แต่ว่าต้องผ่านมันไปให้ได้ค่ะ”

จึ้ง–พรนภา ทองศรี สาวน้อยผมเปียรูปร่างสันทัด วัย 20 ปี หนึ่งในทีมนักกีฬายูโดคนตาบอดสายสีน้ำตาลทีมชาติไทย รุ่นน้ำหนัก 60-66 กิโลกรัม จากจังหวัดชลบุรี กล่าวอย่างหนักแน่นต่อความรู้สึกตึงเครียดจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเตรียมลงสนามแข่งพาราลิมปิกที่ญี่ปุ่น

เดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้บรรเทา การฝึกซ้อมจึงต้องยุติลงชั่วคราว นักกีฬาต่างแยกย้ายกลับบ้าน อย่างไรก็ตามด้วยจิตวิญญาณของโค้ช ระเบียบวินัยของนักกีฬาต้องมีอยู่สม่ำเสมอ

“ไม่รู้ว่าโควิดนานแค่ไหน เลยให้นักกีฬาส่งการบ้านทุกวัน ถ่ายคลิปตัวเองวิ่ง ซิต-อัป เข้าท่ายูโดคนเดียว เช็กร่างกายตัวเองว่าจัดท่า จังหวะถูกต้องไหม บางทีจินตนาการไม่พอจริงๆ นะครับ อย่างเวลาสอนต้องไปนั่งจับขา จับมือกันเลยว่าต้องทำยังไง เราเล่นแบบนี้เขาจะจำไม่ได้ว่าต้องทำยังไง ใครไม่ส่งก็โทร.ตามว่า ‘ทำได้แล้ว’ เพราะก่อนโควิดก็เก็บตัวไปอาเซียนพาราเกมส์แล้ว 1 ปี นักกีฬาเขาหวังสูง หวังเหรียญ เงินรางวัล สร้างชื่อเสียงให้ครอบครัว เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม อาเซียนพาราเกมส์ประกาศยกเลิก ก็ไม่มีกำลังใจออกกำลังกาย แต่ถือว่าเขาได้พักผ่อน อยู่กับครอบครัว” โค้ชโต้งเล่าพลางโชว์คลิปภาพฝึกซ้อมในโทรศัพท์มือถือให้ดูอย่างภาคภูมิใจ

ภาพการซ้อมประชิดตัว

ภาพที่ 2 การซ้อมประชิดตัว

 

ภาพนักกีฬากำลังนั้งยิ้มขณะซ้อม

自他共栄จิตะเคียวเอ: ยืนหยัดด้วยตนเอง ช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคมให้รุ่งเรือง

“ครืด”…“สวัสดีจ้ะ”

เสียงบานประตูเลื่อนเปิดออก ชายร่างสูงสวมแว่น ดูอ่อนวัยกว่าโค้ชโต้งเล็กน้อย ก้าวเข้ามาในชุดทะมัดทะแมงพร้อมกับถุงข้าวของขนาดใหญ่ในห้อง กล่าวทักทายแล้วเข้าร่วมวงสนทนากับโค้ชโต้งด้วยอีกคน

ปัญญา สุกใส หรือโค้ชยา หนึ่งในโค้ชฝึกสอนนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติไทย รวมถึงโค้ชฝึกสอนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ส่วนช่วงนี้โค้ชยามีหน้าที่เสริมช่วยดูแลงานกีฬาสีภายในโรงเรียนอีกด้วย

นอกจากการทำหน้าที่เป็นโค้ชทีมชาติแล้วนั้น โค้ชยาและโค้ชโต้งต้องทำงานเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลนักกีฬา แผนงบประมาณประจำปีให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาตามความเหมาะสม รวมไปถึงการติดต่อขอสปอนเซอร์จากบริษัทเอกชนต่างๆ หรือช่วยเป็นครูฝึกสอนยูโดตามโรงเรียนคนตาบอดทั่วประเทศ เนื่องจากบุคลากรด้านยูโดคนตาบอดมีไม่เพียงพอ และเฟ้นหาเด็กตาบอดที่สนใจและมีแวว ต่อยอดเป็นนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติ

“ถ้าตาบอดพอมองเห็นได้เขาจะไม่มาเป็นนักกีฬา เพราะว่าเขามีโอกาสที่จะเล่นกีฬาชนิดอื่นที่เขาสามารถไปต่อได้ ในต่างประเทศก็จะทำแบบนี้ เด็กบ้านเราที่เป็น B1 หรือพอมองเห็นสามารถเรียนหนังสือได้ ทำงานได้ ไปเป็นครู สายวิชาการก็มี เขาจะไม่เป็นนักกีฬาคนพิการเลย เราเลยหาเด็กที่เป็นแบบ B2 B3 ไม่ค่อยได้”

โค้ชยากล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการขาดแคลนนักกีฬาในระดับ B2 และ B3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการซ้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการซ้อมวิ่งที่ต้องการผู้นำทาง เนื่องจากทางส่วนกลางจัดอัตราจำนวนนักกีฬาคนตาบอดสนิทสามคนต่อโค้ชหนึ่งคน โค้ชโต้งผู้เคยประสบปัญหานี้พูดเสริมเรื่องราวอย่างออกรสออกชาติว่า

“ปีที่แล้วนักกีฬายูโด B1 มีมากกว่า B2 B3 คนนำทางวิ่งมีไม่พอ เขามองไม่เห็น จะระวังทางข้างหน้ากว่าคนตาดี ทำให้ออกแรงวิ่งได้ไม่เต็มที่ เลยแก้ปัญหาเข้าฟิตเนส วิ่ง ยกเวตช่วงเช้า 8.30-11.00 น. โดนเจ้าหน้าที่บ่นทุกวันว่า นักกีฬาเหงื่อออกทำพื้น เครื่องออกกำลังกายสกปรก…ผมเลยตัดปัญหาทำความสะอาดทุกครั้งที่นักกีฬาเล่น ก็งงเหมือนกัน ‘มันใช่หน้าที่เราหรือเปล่าวะ เงินก็เสียนะ ถ้าขอฟรีก็อีกเรื่อง’ แต่ต้องใช้เลยยอม”

นอกจากนี้โค้ชยายังกล่าวถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพยายามอย่างหนัก คือการโน้มน้าวให้โรงเรียนสอนคนตาบอดและผู้ปกครองเห็นความสำคัญของกีฬายูโดที่เป็นมากกว่าการต่อสู้บนเบาะ เพราะจะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตโลกภายนอกของเด็กตาบอดเอง

“เราไม่ได้ชักชวนให้เขามาเล่นกีฬาอย่างเดียว เราเข้าไปสอนให้เด็กรู้สึกว่ามันเป็นชีวิตประจำวัน เพราะกีฬายูโดมันมีเรื่องของการล้ม ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ตกทางเท้า จะตบเบาะยังไงให้ร่างกายปลอดภัย หรือถ้าเกิดโดนโจรล็อกตัว คุณจะหลุดออกมาจากจุดนั้นได้อย่างไร เวลาเราเข้าไปหาผู้ใหญ่ก็จะบอกว่ากีฬาของเราทำแล้วมันส่งผลอะไร ลูกคุณจะปลอดภัยนะถ้าเล่นกีฬายูโด นี่เป็นข้อดีที่ทำให้ผู้ใหญ่สนใจ ส่วนกีฬาเป็นผลพลอยได้ ถ้าเด็กเขาทำ เขาชอบ”

โค้ชทั้งสองและนักกีฬาฝ่าฟันเรื่องราวต่างๆ ด้วยกันมาเป็นเวลานาน จึงได้รับการไว้วางใจให้เป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาเรื่องส่วนตัว การเงินบ้าง หรือการใช้ชีวิตในสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาเพียงอย่างเดียว เพราะมิตรภาพ ความผูกพัน คือสิ่งสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าไม่แพ้ไปกว่าการต่อสู้ในสนามกีฬาแข่งขันยูโด

“อยู่กับพวกเขาดีอย่างหนึ่ง คือผมสบายใจกว่าตอนทำงาน หรือเราไม่ดีก็ไม่รู้ แต่พอเป็นอาจารย์สอนเขาแล้วเนี่ย เหมือนเราเป็นความหวังทุกอย่างของเขานะ เขาหวังว่าเราจะนำพาไปด้วยกัน ให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ผมรู้สึกว่าเด็กๆ เข้าใจเรามากกว่า เลยรู้สึกมีความสุข ผูกพันกันระดับหนึ่ง มีแค่พูดจากันบางทีก็ทำให้เคืองเหมือนกัน แต่พอคุยจบก็คือจบ กินข้าวกันต่อได้” โค้ชโต้งกล่าวเสริมอย่างอารมณ์ดี

ทำให้ผลลัพธ์ของทีมเวิร์กสูงสุดตอนนี้คือเหรียญเงินพาราลิมปิก เหลือเพียงแค่เหรียญทองเท่านั้นที่ยังรอทีมนักกีฬาไทยคว้าไปให้ได้!

ภาพโค๊ชผู้ฝึกสอนกำลังนั้งพูดคุย

รวมภาพนักกีฬากำลังเดินเล่น

待ってมัตเตะ : หยุด…แล้วเริ่มสู้ใหม่
มัตเตะในภาษาญี่ปุ่นแปลว่ารอ แต่ในทางศัพท์เทคนิคของยูโดหมายถึงหยุดเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการแข่งขัน โดยกรรมการใช้สัญญาณยกแขนเสมอไหล่ แบนิ้วมือทั้งห้าขึ้น หันไปทางเจ้าหน้าที่จับเวลา หลังจากปัญหาคลี่คลายแล้วจึงค่อยเริ่มการต่อสู้ใหม่

เวลา 16 : 00 น.

“กริ๊ง!”

เสียงออดส่งสัญญาณเวลาเลิกเรียน เด็กเล็กเด็กโตต่างทยอยวิ่งลงจากอาคารเรียนเข้าหาผู้ปกครองที่รอรับกลับบ้านด้วยความดีใจ แต่สำหรับนักกีฬายูโดคนตาบอดคือช่วงเริ่มการฝึกซ้อมต่อสู้ของวัน โค้ชโต้งเลื่อนเวลาซ้อมเร็วขึ้นกว่าเดิมหลังจากห่างหายเป็นเวลานานเพราะโควิด

ก่อนที่นักกีฬาจะซ้อมได้นั้น โค้ชและนักกีฬาในชุดยูโดนั่งคุกเข่าเรียงจากสายวิทยฐานะที่เอวลำดับสูงสุด จากขวาไปซ้ายในท่าทีสงบ เมื่อทำสมาธิแล้ว ให้โค้งคำนับปรมาจารย์คาโน จิโกโร และโค้ชฝึกสอนตามลำดับ เรียกว่า “การเคารพเบาะ” เป็นการแสดงออกถึงความสุภาพ อ่อนโยน และความสงบตามหลักปฏิบัติของกีฬายูโด

 วันนี้โค้ชโต้งฝึกสอนนักกีฬายูโดคนตาบอดทีมชาติจำนวนสี่คน โดยมีผู้ช่วยฝึกสอนอีกหนึ่งคน รวมทั้งหมดหกคน นักเล่นยูโดเริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกาย

“1-2-3-4-5-6-7-8-9-10”

มิ้นท์-กิตติไกร ใจสิงห์ หนุ่มนักกีฬายูโดคนตาบอดสายดำรุ่นไม่จำกัดน้ำหนัก วัย 25 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ เก็บตัวรอการแข่งขันพาราลิมปิกเช่นเดียวกับจึ้ง อาสานำเพื่อนร่วมทีมฝึกซ้อมด้วยความชำนาญปนเสียงหัวเราะที่อิ่มไปด้วยความสุข เพราะว่าเขาสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับครอบครัวได้ด้วยตัวของเขาเอง

“ผมเป็นคนจนนะ แล้วผมมีทุกอย่างได้เพราะกีฬายูโด มีบ้าน มีเงินเก็บ”

ขณะที่โค้ชโต้งนั่งมองดูเหล่าลูกศิษย์อยู่ริมมุมลานกว้างด้วยสายตาที่อ่อนโยน 

“ทำไมไม่ชูมือสองข้างขึ้นมาล่ะมิ้นท์!”

น้ำเสียงอันดุดันของโค้ชโต้งเปล่งออกมาประสานกับเจื้อยแจ้วของเด็กนักเรียนแถวนั้น ต่างกับโค้ชโต้งผู้อารมณ์ดี อ่อนโยนในตอนเช้า แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักกีฬาเช็กดูท่าทางการเล่นของตนเองให้ถูกต้องตามประสาโค้ช

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นส่งสัญญาณไม่ค่อยดีนัก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด 3,000 คนเป็นครั้งแรก คาดการณ์ว่าจะเลวร้ายลงในช่วงฤดูหนาว ขณะเดียวกันในฐานะเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ค.ศ.2020 เลื่อนจัดการแข่งขันเป็นกลางปีหน้า ซึ่งชาวโลกและทีมนักกีฬาต่างภาวนาให้วิกฤตโควิด-19 คลี่คลายโดยเร็ว

“ก็เซ็งเลยครับ คือเรามาซ้อมแบบร่างกายพร้อมสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมจะแข่งแล้ว แต่มันก็เลื่อนออกไป เหมือนเก็บตัวฟรีอะครับ (หัวเราะ) เอาตรงๆ คือเราหวังเหรียญ สภาพร่างกายเราพร้อมเต็มที่ จิตใจเราพร้อมที่จะแข่งแล้ว แล้วมันเลื่อน แย่เลยละครับ” มิ้นท์ระบายความในใจให้ฟัง แต่สัมผัสได้ถึงประกายแห่งความหวัง

เมื่อการฝึกซ้อมเสร็จสิ้น ทีมนักกีฬาเคารพเบาะอีกครั้งแสดงความขอบคุณ แล้วแยกย้ายกันไปพักผ่อนเพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสกว่าเดิม

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.sarakadee.com/

Link : sarakadee.com/2021/02/15/ยูโด-คนตาบอด

SHARE ON SOCIAL MEDIA :