พิพิธภัณฑ์อักษรเบรลล์

avatar
Benyalai Admin
03 Dec 2018

พิพิธภัณฑ์อักษรเบรลล์ สำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หลักการและเหตุผล

อักษรเบรลล์ภาษาไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยสุภาพสตรีอเมริกันตาบอด ชื่อ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevive Caufield) โดยได้ร่วมกับคณะคนไทยคิดอักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ซึ่งประยุกต์มาจากอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ จึงเป็นการเปิดศักราชแห่งการเรียนรู้หนังสือของคนตาบอดไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ในความดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ จึงได้ช่วยงานของมูลนิธิฯ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วิวัฒนาการด้านนวัตกรรมด้านการใช้สื่อสารสนเทศของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นในปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นมีโอกาสเข้าถึงสื่อทุกประเภท เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาแนวคิด ทักษะ และศักยภาพของพวกเขาเหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตในสังคมได้เฉกเช่นบุคคลทั่วไป และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

สำนักหอสมุดเบญญาลัยเป็นแหล่งผลิตและบริการสื่อความรู้ต่างๆ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสำนักหอสมุดเบญญาลัยได้เล็งเห็นถึงนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์อักษรเบรลล์ แหล่งเรียนรู้ด้านนวัตกรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น และแหล่งเรียนรู้แก่บุคคลทั่วไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิวัฒนาการเกี่ยวกับอักษรเบรลล์ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นและบุคคลทั่วไป
  • เพื่อเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับอักษรเบรลล์ต่อสังคมภายนอกให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
  • เพื่อเป็นแบบอย่างแนวคิดสำหรับนักพัฒนา วิจัย นวัตกรรม อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นเพื่อนำไปประดิษฐ์ พัฒนาผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต การศึกษา และการประกอบอาชีพของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

เป้าหมาย

  • ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น
  • อาสาสมัครผลิตสื่อ
  • นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป

 


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอักษรเบรลล์


ประวัติอักษรเบรลล์

อักษรเบรลล์ คือ อักษรที่ใช้ในระบบการเรียนการสอน สำหรับคนตาบอด ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของจุดนูนเขียนลงบนกระดาษ โดยใช้ปลายนิ้วมือสัมผัสในการอ่าน อักษรเบรลล์ สำหรับคนตาบอดนี้มีการคิดประดิษฐ์เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1824 โดยนักเรียนตาบอดชาวฝรั่งเศส ชื่อ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille)

หลุยส์ เบรลล์ ได้ประกาศวิธีการใช้อักษรสำหรับคนตาบอดในปี ค.ศ. 1824 เมื่อเขามีอายุได้ 15 ปี ต่อมา นักเรียนตาบอดเกิดความกระตือรือร้นในโอกาสใหม่นี้มาก และคำว่า “เบรลล์” จึงถือว่าเป็นอักษรสำหรับคนตาบอดซึ่งมาจากชื่อ “หลุยส์ เบรลล์” เพื่อเป็นการยกย่องให้กับผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น หลุยส์ เบรลล์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1852 เพียง 2 ปี ก่อนระบบการเขียนการอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอดจะเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ

ประวัติอักษรเบรลล์ภาษาไทย

อักษรเบรลล์ภาษาไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2482 โดยสุภาพสตรีอเมริกันตาบอด ชื่อ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevive Caufield)โดยได้ร่วมกับคณะคนไทยคิดอักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ซึ่งประยุกต์มาจากอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ จึงเป็นการเปิดศักราชแห่งการเรียนรู้หนังสือของคนตาบอดไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาได้ ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ในความดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ จึงได้ช่วยงานของมูลนิธิฯ ตลอดมา และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2515 ในประเทศไทย

สเลท (Slate) เป็นแผ่นกระดานใช้สำหรับใส่กระดาษเพื่อเขียนอักษรเบรลล์ ภายในแผ่นกระดานประกอบด้วย ช่องเป็นแถวยาว ในแต่ละช่องจะมีรูไว้สำหรับเขียนช่องละ 6 รู สเลทแต่ละอันจะมีฝาเปิด-ปิด และที่ล็อคกระดาษ สเลทจะมีหลายแบบคือ แบบพลาสติก และสแตนเลส 2 แถว 4 แถว 9 แถว และ 27 แถว

สไตลัส (Stylus) มีไว้สำหรับใช้เขียนอักษรเบรลล์ต้องใช้ควบคู่กับสเลท (Slate) สไตลัสประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนสำหรับวางนิ้ว และปลายเข็ม

การใช้สเลท (Slate) มีไว้สำหรับเขียนอักษรเบรลล์

  • การวางสเลท ให้วางด้านที่มีช่องไว้ด้านบน โดยให้บานพับอยู่ทางด้านซ้ายมือและให้วางสเลทขนานกับลำตัวของผู้เขียน
  • การเปิด-ปิดสเลท ให้เปิดทางด้านขวา ด้านซ้ายจะล็อคไม่สามารถเปิดได้
  • การใส่กระดาษ ให้เปิดสเลทแผ่นบนขึ้นและใส่กระดาษ โดยใส่กระดาษขอบซ้ายให้ชิดบานพับด้านซ้าย และหัวกระดาษอยู่ชิดขอบบนของสเลท และกดกระดาษลงตรงมุมทั้งสี่ของสเลทที่ใช้ล็อคกระดาษ แล้วจึงปิดสเลท
  • การเลื่อนกระดาษ ให้เปิดแผ่นสเลทด้านบนขึ้น แล้วเลื่อนแผ่นกระดาษด้านล่างขยับขึ้นด้านบน โดยให้นำรอยปุ่มที่ล็อคกระดาษด้านล่าง 2 ปุ่ม ขึ้นไปทับที่ล็อคกระดาษด้านบน 2 ปุ่ม แล้วจึงปิดสเลททับกระดาษรวมทั้งกดล็อคกระดาษตรงมุมล่างซ้ายและขวา

หมายเหตุ: การเลื่อนกระดาษให้ขึ้นอยู่กับชนิดของสเลทที่ใช้เป็นหลัก

อุปกรณ์การเขียนอักษรเบรลล์

การใช้สไตลัส (Stylus) มีไว้สำหรับเขียนอักษรเบรลล์ มีวิธีจับสไตลัสที่ถูกต้อง โดยวางโคนนิ้วชี้ไว้บนสไตลัส และให้นิ้วหัวแม่มือสอดไว้ใต้โคนนิ้วชี้ ใช้นิ้วหัวแม่มือ โคนนิ้วกลาง และปลายนิ้วชี้จับประคองส่วนหัวให้ตั้งตรง และจับให้กระชับมือ

วิธีการเขียนอักษรเบรลล์

  • ใช้นิ้วชี้ซ้ายสัมผัสช่องของแผ่นสเลทจากขวาไปซ้าย
  • ใช้มือขวาจับสไตลัส แล้วเขียนจากขวาไปซ้ายโดยใช้นิ้วชี้ซ้ายกำกับช่อง

ลูกบิดผสมคำ

ลูกบิดผสมคำใช้สำหรับการเรียนรู้อักษรเบรลล์เบื้องต้น ทำได้โดยบิดตัวอักษรเบรลล์แต่ละตัวให้มาเรียงต่อกันเพื่อเกิดเป็นคำที่ต้องการ

ชุดวาดเขียนเล่นเส้น

การสัมผัสทางกายเป็นประสาทสัมผัสที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นใช้เพื่อทดแทนการมองเห็น ดังนั้น การวาดภาพแบบสองมิติที่ต้องใช้สายตามองจึงทดแทนได้ด้วยการวาดภาพที่สามารถใช้นิ้วมือสัมผัสลวดลายบนภาพเหล่านั้นได้ ซึ่ง การวาดภาพมิใช่เรื่องที่มีอยู่ในเฉพาะจินตนาการอีกต่อไป อีกทั้งยังไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก

ชุดวาดเขียน 'เล่นเส้น คือ คำตอบของอุปกรณ์สร้างเสริมจินตนาการสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยภายในชุดประกอบด้วย

  1. ปากกาเล่นเส้น เป็นปากกาที่ทำขึ้นจากไม้ยางพารา ข้างในมีเส้นไหมพรมเป็นไส้ใช้แทนน้ำหมึก ที่ปลายปากกามีแผ่นเหล็กเล็กๆ แบบเดียวกับที่ใช้ตัดไหมขัดฟัน สำหรับใช้ตัดเส้นไหมพรมเมื่อวาดรูปเสร็จ
  2. สมุดเล่นเส้น เป็นสมุดที่มีแผ่น Velcro แบบใหม่ที่เรียกว่า Easy Tape มีคุณสมบัติเรียบเมื่อสัมผัส แต่สามารถยึดเกาะเส้นไหมพรมได้ดี
  3. ไหมพรม เป็นไหมพรมที่หาซื้อทั่วไปตามท้องตลาด

เมื่อเด็กๆ ใช้ปากกาเล่นเส้นวาดลงบนสมุดเล่นเส้น ลวดลายที่วาดจะเกิดเป็นเส้นนูนขึ้นมา ทำให้สามารถใช้มือสัมผัสสิ่งที่ตัวเองวาดลงบนกระดานได้ เมื่อวาดเสร็จ ยังสามารถดึงเส้นไหมพรมออกจากกระดานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ซึ่งนอกเหนือจากชุดวาดเขียนเล่นเส้นจะช่วยสร้างเสริมจินตนาการให้กับเด็กๆ ในวิชาศิลปะแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆ อาทิเช่น การวาดกราฟในวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ การทำแผนที่ในวิชาสังคมศึกษา เป็นต้น

กระดานหมากฮอส

ตาการเดินแต่ละช่องจะมีพื้นผิวลึกลงไปสำหรับป้องกันไม่ให้ตัวฮอสย้ายไปตำแหน่งอื่นและลักษณะของหมากฮอสของผู้เล่นแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันเช่น วงกลมหรือสี่เหลี่ยมเพื่อให้ผู้เล่นสังเกตได้ชัดเจนว่าตัวไหนเป็นหมาฮอสของฝ่ายตนเอง ถ้าหากกลับด้านหมากฮอสจะมี สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเข้าฮอตแล้วโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถ้าหากเข้าฮอสก็จะกลับด้านนั้นขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่าตัวนั้นๆ เป็นฮอสแล้ว

ลูกโลก

ใช้สำหรับการเรียนรู้แผนที่หรือส่วนต่างๆของโลก โดยพื้นที่ลักษณะเขตต่างๆ จะมีลักษณะพื้นผิวที่แตกต่าง และนอกจากนี้ยังมีอักษรเบรลล์คอยกำกับไว้ในแต่ละจุดเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น

แผนที่

ใช้สำหรับการเรียนรู้แผนที่ต่างๆ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยแต่ละพื้นที่จะมีพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างกันและมีอักษรเบรลล์คอยกำกับไว้ในแต่ละจุด ทั้งนี้ผู้เรียนอาจจะเรียนรู้ข้อมูลไปพร้อมกับการอ่านแผนที่แต่ละส่วนด้วย เพื่อให้ทราบว่าพื้นผิวสัมผัสดังกล่าวหมายถึงส่วนใดของแผนที่

สื่อภาพนูน

สื่อภาพนูนเป็นสื่อการเรียนรู้ทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางเห็นการสามารถเข้าถึงรูปภาพแผนภูมิ รูปเรขาคณิตและอื่นๆ ได้โดยวิธีทำนั้นสามารถผลิตได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การวาดด้วยแผ่นใส ประดิษฐ์ด้วยมือโดยอาศัยวัสดุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน การอัดดความร้อนด้วยเครื่องเทอร์โมฟร์อม และโปรแกรมผลิตสื่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นต้น ซึ่งจากการผลิตดังกล่าวจะได้สื่อภาพนูนที่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามความต้องการของผู้ใช้

เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์

เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ (Brailler) คือเครื่องพิมพ์ที่ผลิตจุดนูนที่เป็นอักษรเบรลล์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น มีแป้นพิมพ์จำนวน ๖ แป้นเพื่อสร้างรหัสอักษรเบรลล์ โดยการกดแป้นคีย์พร้อมกัน ๑ ถึง ๖ แป้น จะสร้างรหัสอักษรเบรลล์ได้ครั้งละ ๖ จุด นอกจากนั้นก็จะมีแป้นเว้นวรรค, แป้นสำหรับลบถอยหลัง และแป้นสำหรับขึ้นบรรทัดใหม่ ซึ่งมีความหมายเดียวกับ Braille Typewriter [Assistive Technology]

กระดาษที่ใช้:

Brailler รองรับกระดาษได้หลายขนาดขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ใช้

วิธีการใส่กระดาษ ให้ยกตรงหูกระต่ายหรือตัวล็อกกระดาษขึ้น แล้วสอดกระดาษเข้าไปในช่องใส่กระดาษ หลังจากนั้นให้ผลักหูกระต่ายลงที่เดิมเพื่อล็อกกระดาษให้เข้าที่

จากนั้นให้ใช้มือทั้งสองข้างหมุนกระดาษโดยหมุนเข้าหาตัว ตรงที่ดึงกระดาษเข้าทางด้านข้างของเครื่องพร้อมๆกัน

เสร็จแล้วให้กดตรงปุ่มเลื่อนบรรทัด ทางด้านซ้ายมือหนึ่งครั้ง

หลังจากนั้นเครื่อง กระดาษก็พร้อมสำหรับการพิมพ์อักษรเบรลล์แล้วครับ

ให้ใช้ปุ่มจุด 1 2 และ 3 ติดกันทางด้านซ้ายมือ โดยเริ่มนับจุดหนึ่งจากปุ่มเว้นวรรคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตรงกลาง

และปุ่มจุด 4 5 และ 6 ทางด้านขวามือโดยเริ่มนับจุด 4 จากปุ่มเว้นวรรคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตรงกลาง

ปุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตรงกลางจะเป็นปุ่มเว้นวรรค กดหนึ่งทีสำหรับการเว้นวรรคหนึ่งช่องไฟ

การวางนิ้ว ให้ใช้นิ้ว ชี้ กลาง นาง ของมือซ้ายวางในตำแหน่งจุดที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ

และ ให้ใช้นิ้ว ชี้ กลาง นาง ของมือขวาวางในตำแหน่งจุด 4 5 และ 6 ตามลำดับ

ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งข้างใดสำหรับกดปุ่มเว้นวรรค

พร้อมแล้ว เราก็ไปทดลองพิมพ์อักษรเบรลล์กันเลยครับ ขอให้สนุกกับการพิมพ์อักษรเบรลล์ด้วยเครื่อง Brailler ครับ


เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ระบบไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น

เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ระบบไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตอักษรเบรลล์ ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ (เบรลล์เลอร์) นั้นผู้พิมพ์จะต้องใช้แรงในการพิมพ์เป็นอย่างมากดังนั้นเครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ระบบไฟฟ้าจึงถูกคิดค้นขึ้นมาแทนเครื่องเบรลล์เลอร์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วโลกมากนักเนื่องจากมีราคาแพงและยากต่อการบำรุงรักษาดังนั้นเครื่องเบรลล์เลอร์แบบธรรมดาจึงได้รับความนิยมและถูกใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์

เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เป็นเครื่องที่มีไว้สำหรับการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและมีกระบวนการแปลงค่าตัวอักษรปกติออกมาเป็นอักษรเบรลล์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เสมือนได้อ่านตัวอักษรบนหน้าจอของอุปกรณ์ด้วยตัวเอง อุปกรณ์แต่ละรุ่นจะมีจำนวนเซลล์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่ลักษณะการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก และในสมัยนี้เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องจดบันทึกภายในเครื่องได้ และสามารถรองรับแอฟพิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายตรงกับความต้องการของผู้ใช้

Plex Talk

Plex Talk เป็นเครื่องเล่นหนังสือเดซีในสมัยเริ่มแรก ที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่นสามารถรองรับการเล่นเดซี 2.02 และ ไฟล์ออดิโอ้ ซึ่งหนังสือเดซีที่นำมาเล่นนั้นจะต้องมีไฟล์ Disk-info ด้วยซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องเล่นเดซีในสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไฟล์ดังกล่าวแล้ว

เครื่องสำเนาเทปคาสเซ็ท

เครื่องสำเนาเทปคาสเซ็ท ในสมัยก่อน – ราวๆ พ.ศ. 2544 เทปคาสเซ็ทได้มีคุณประโยชน์ต่อการเรียนการสอนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นเป็นอย่างมากเพราะผู้ใช้จะใช้ในการฟังหนังสือและบันทึกเสียงในห้องเรียน ซึ่งการทำสำเนาเทปในสมัยนั้นจะสำเนาม้วนต่อม้วนเท่านั้น ใช้เวลายาวนานกว่าการสำเนาด้วยเครื่องทำสำเนาเทป ดังนั้นระบบการเรียนการสอนสมัยก่อนจึงจำเป็นต้องมีเครื่องทำสำเนาเทปมาใช้เพื่อลดระยะเวลาการผลิตและเพิ่มจำนวนสำเนาให้ทันต่อความต้องการของผู้รับบริการ

SHARE ON SOCIAL MEDIA :