การสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อการเรียนการสอน

avatar
พีระ พิลาฤทธิ์
16 Jan 2021

การสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อการเรียนการสอน

(Audio Description Construction in Teaching Material)

โดย อาจารย์ ดร. ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์

อาจารย์ประจำ สถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 (International Institute Studies of Ramkamhaeng University - IISRU)

 

  "....เสียงบรรยายภาพ ทำหน้าที่แทนตาของผู้พิการทางการมองเห็น

   แต่ไม่ได้ทำหน้าที่แทนสมองให้เรา..."

กิตติพงศ์ สุทธิ

                                                                           ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา

การสร้างเสียงบรรยายภาพ หรือ Audio Description สำหรับสื่อการเรียนการสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำเสนอถึงหลักการและวิธีการในการสร้างเสียงบรรยายภาพในสื่อการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเข้าถึง จากนักเรียนที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็นทั้งตาบอดสนิท และสายตาเลือนรางเป็นหลัก ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ได้มีการ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

  1. คุณลักษณะและหลักการพื้นฐานของการสร้างเสียงบรรยายภาพ
  2. การสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อภาพนิ่ง และ Data Visualization พื้นฐาน
  3. การสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อภาพเคลื่อนไหว
  4. คุณลักษณะและหลักการพื้นฐานของการสร้างเสียงบรรยายภาพ

มีผู้ให้ความหมายของเสียงบรรยายภาพไว้หลากหลาย  ได้แก่  เสียงบรรยายภาพคือศิลปะแห่งการ“พูด" ภาพ (The Art of Speaking Images) (Lopez Vera, 2007) หรือ เสียงบรรยายภาพ คือ การให้เสียงเพื่อสื่อสารภาพ โดยทำให้เกิดความเข้าใจ (Comprehension) รวมถึงความสนุกสนาน ความบันเทิง(Enjoyment) (อารดา ครุจิต, 2558) ทั้งนี้ เสียงบรรยายภาพ (Audio Description) โดยรวมหมายถึง การใช้เสียงพูดเพื่อทำหน้าที่บรรยายลักษณะของภาพหรือภาพเคลื่อนไหว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้พิการทางการมองเห็นในระดับต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากภาพ ทั้งในเชิงเนื้อหาสำคัญของภาพนั้นๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือสุนทรียภาพที่เกิดจากภาพเหล่านั้นด้วย

               Benecke (2007) ได้ศึกษาหน้าที่ของเสียงบรรยายภาพว่า แต่เดิม การที่ผู้พิการทางการมองเห็นจะ       สามารถเข้าถึงสื่อที่เป็น  "ภาพ"  ที่เป็นผลงานของผู้สร้างงานได้นั้น จะต้องอาศัยการบอกเล่าของกลุ่มผู้ชมที่สามารถมองเห็นได้เป็นปกติ    แต่เนื่องจากการที่ผู้พิการทางการมองเห็นจะต้องทำการสอบถามผู้ชมที่มองเห็นเป็นปกติตลอดเวลา (ตามทิศทางลูกศรสีแดง) จึงเกิดเป็นความเกรงใจที่ถึงแม้ว่าผู้พิการทางการมองเห็นจะ ต้องการข้อมูล แต่ก็ไม่อยากให้เกิดการรบกวนได้ ดังนั้นเสียงบรรยายภาพจึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ที่จะสื่อสาร ภาพที่เกิดขึ้นไปยังผู้พิการทางการมองเห็นได้ (ตามทิศทางลูกศรสีเขียว) ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบที่เข้ามาอยู่ใน กระบวนการผลิตเพิ่มเติม คือ ผู้สร้างเสียงบรรยายภาพ และผู้ให้เสียงบรรยายหรือผู้ทำการบรรยายภาพ

 

 

 

 

ภาพที่ 1: แผนภาพแสดงบทบาทเชื่อมโยงจากผู้สร้างงานไปยังกลุ่มคนพิการทางการมองเห็น

ที่มา: ปรับปรุงจาก Benecke, 2007

ความเคลื่อนไหวเรื่องเสียงบรรยายภาพนั้น มีการระบุย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1960 ซึ่งการบรรยาย ภาพได้มีการถูกกล่าวถึงโดยสมาชิกสภาของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็น ซึ่งสมาชิก สภาคนดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องการให้เกิดการเข้าถึงสื่อเพื่อการศึกษามากขึ้นสำหรับนักเรียนที่เป็นผู้พิการ ทางการมองเห็น โดยต่อมา Gregory Frazier ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "โทรทัศน์สำหรับคนตาบอด" ขึ้นใน ปีเดียวกัน (ช่วงปี 1960 เป็นช่วงปีที่ถือได้ว่าโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อประชากรชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ซึ่งมี การระบุว่า ชาวอเมริกันเปิดโทรทัศน์ไว้เพื่อรับชมโดยเฉลี่ย 7.5 ชั่วโมงต่อวัน (Baran and Davis, 2012)) หลังจากนั้นได้มีการทดลองใช้การบรรยายภาพในการแสดงสดที่ Arena stage และพัฒนาเข้าล่วงการ โทรทัศน์ต่อไปในระยะหลัง (Snyder, 2016)

ต่อมา ราวปี 1980 - 1990 ฝั่งสหราชอาณาจักรได้มีการรับเอาแนวคิดการสร้างเสียงบรรยายภาพ และนำไปประยุกต์ใช้กับการแสดงสดในโรงละครเล็กๆชื่อ Robin Hood ที่ Nottinghamshire และพบว่า การแสดงสดที่มีการบรรยายภาพด้วยนั้น  สร้างกระแสตอบรับจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มีนักเขียนบนละคร

 

ได้เสนอเรื่องเสียงบรรยายภาพนี้ไปยัง The Royal Theatre ที่พระราชวัง Windsor และนับแต่บัด นั้นจนถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ปี ค.ศ. 2000) มีโรงละครมากกว่า 40 โรง ที่มีการเปิดการแสดงสดพร้อมกับ มีบริการเสียงบรรยายภาพด้วย ถือว่าส่วนของสหราชอาณาจักรมีการให้บริการเสียงบรรยายภาพในโรงละครมากที่สุดในทวีปยุโรป (ITC, 2000) หลังจากนั้น การพัฒนาเสียงบรรยายภาพก็ได้มีการต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์ การแสดงสด ละครโทรทัศน์ ละครเวที รายการ โทรทัศน์ประเภทต่างๆ การกีฬา แฟชั่นโชว์ งานศิลปะ ประติมากรรม ภาพเขียน ภาพวาด รวมถึงการ พัฒนาสื่อการสอนในส่วนของภาพให้มีเสียงบรรยายภาพ เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงจากผู้ชมและนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็นได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อใดๆก็ตาม จะมีหลักการเบื้องต้นที่ถือเป็นหลักการสากลสำหรับงานเสียงบรรยายภาพ สามารถสรุปรวบรวมได้ 6 ประการ ดังต่อไปนี้ (Snyder,.. 2016 ; ธรธวัช เจนวัชรรักษ์, 2561)

  1. การถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญจากผู้ส่งสาร (Real Message)

เนื่องจากในกระบวนการสร้างเสียงบรรยายภาพ จำเป็นต้องมีผู้จัดทำบทบรรยายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างถูกต้อง และตรงตามที่ภาพเหล่านั้นได้รับการออกแบบ หรือ'จัด วางมา ผู้จัดทำบทบรรยายภาพจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ บทบาทและหน้าที่ของภาพ หรือ สื่อเหล่านั้น เสียก่อน ตลอดจนเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต้องสื่อสารให้ครอบคลุม จึงจะสามารถทำบทบรรยายภาพได้ อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งการบรรยายภาพที่เป็นกราฟแท่ง อาจะไม่จำเป็นต้องลง รายละเอียดถึงสีสันต่างๆของกราฟแท่งเหล่านั้น หากแต่สีของกราฟแท่งเหล่านั้น มีความจำเป็นที่ จะต้องถูกกล่าวถึง หรือตอบในข้อคำถาม ก็จำเป็นต้องถูกกล่าวถึงในบทบรรยายด้วย เป็นต้น

  1. การบรรยายแตกต่างจากการอธิบาย

สิ่งสำคัญที่ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการสร้างเสียงบรรยายภาพ คือ บทบรรยายที่เกิดขึ้น จะต้อง ทำหน้าที่ "บรรยาย" เฉพาะสิ่งที่ตามองเห็นได้เท่านั้น ผู้จัดทำบทบรรยายภาพไม่ควรกล่าวเหมารวม ตีความ หรือเชื่อมโยงไปยังสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น เราไม่สามารถมองเห็น "ลม" ได้ แต่เรา สามารถมองเห็นยอดต้นหญ้าที่พลิ้วลู่ไปทางเดียวกันได้ ดังนั้นการบรรยายภาพควรจะต้องกล่าวถึง การที่ยอดต้นหญ้าพลิ้วลู่ไปทางเดียวกัน มากกว่าที่จะบอกว่า "ลมพัด" เป็นต้น โดยหลักการนี้มีการ ระบุไว้ว่า WYSIWYS: What You Say Is What You See (Snyder, 2016) ซึ่งดังกล่าวข้างต้น เสียง บรรยายภาพจะทำหน้าที่แทน "การมองเห็น" ของผู้พิการทางการมองเห็น ดังนั้นผู้จัดทำบทบรรยาย ภาพพึงระลึกอยู่เสมอว่าการสร้างบทบรรยายภาพ จะต้องยึดอยู่กับความเป็น "วัตถุวิสัย" (Objectivity) เท่านั้น ไม่ควรใส่การตีความ หรือสิ่งที่เป็นปัจเจก และอัตวิสัย (Subjectivity) ของ ผู้จัดทำบทบรรยายลงไปด้วย ซึ่งการตีความ จะทำให้เกิดการ "ชี้นำ" ในบทบรรยายภาพได้

  1. การใช้สื่อเฉพาะมักทำให้เกิดปัญหา

สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นแล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดการรับรู้ได้ คือ สิ่งที่บรรยายภาพว่าลักษณะที่ เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพเหล่านั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะบอกว่า สิ่งของ หรือ ลักษณะเหล่านั้นเรียกว่าอะไร ยกตัวอย่างเช่น การบรรยายภาพว่า "สวมเสื้อกิโมโน" จะไม่ส่งผลต่อ การรับรู้เท่ากับการบรรยายภาพว่า "สวมเสื้อคลุมแบบไม่มีกระดุม ปลายแขนทั้งสองกว้าง" เป็นต้น แต่สำหรับการบรรยายภาพที่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงคำศัพท์เชิงเทคนิค เช่น การบรรยายภาพวาด ในรายวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ การใช้คำศัพท์ที่สื่อถึงรูปแบบ style หรือ เทคนิคที่เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้และเข้าใจ ก็สามารถระบุได้พร้อมรายละเอียดของลักษณะดังกล่าวที่ปรากฏขึ้น ตามหลักการอื่นๆในการสร้างเสียงบรรยายภาพนอกจากนี้ สำหรับการจัดทำเสียงบรรยายภาพในสื่อการเรียนการสอนนั้น ควรคำนึงถึงลักษณะการใช้ ภาษาของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นเป็นสำคัญ เนื่องจากเสียงบรรยายภาพจำเป็นต้องทำหน้าที่สื่อสาร ให้ผู้รับสาร หรือผู้เรียนสามารถรับรู้และเข้าใจได้ ในระดับชั้นที่แตกต่างกัน ควรมีการใช้ระดับภาษาที่ แตกต่างกันตามความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย

  1. การสร้างระบบในการบรรยายภาพ

ในการสร้างบทบรรยายภาพ ควรคำนึงถึงการติดตามได้ของผู้พิการทางการมองเห็น ที่จะสามารถ จินตนาการภาพตามเป็นส่วนๆได้ ดังนั้น ผู้สร้างบทบรรยายภาพควรวาง "ระบบ"ในการบรรยายภาพ ให้มีความเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และเป็นไปตามลำดับที่เข้าใจได้ เช่น การบรรยายภาพรวมก่อนที่เข้ารายละเอียด การบรรยายในสิ่งทั่วไปก่อนที่จะเข้าสู่สิ่งที่เฉพาะเจาะจงกว่า (ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์, 2559) การบรรยายจากซ้ายไปขวา การบรรยายจากบนลงล่าง การบอกก่อนว่าภาพนั้นมีกี่ส่วน หรือใน กรณีที่ภาพนั้นประกอบไปด้วยหลายส่วน ผู้สร้างบทบรรยายภาพก็ต้องบอกก่อนว่าประกอบไปด้วยกี่ส่วน แล้วจึงบรรยายรายละเอียดจากส่วนหลักไปหาส่วนย่อยๆต่อไปนอกจากนั้น การเลือกที่จะให้รายละเอียดภาพนั้นมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับหน้าที่ของภาพนั้นๆต่อ เนื้อหาบทเรียนอีกด้วย เช่น หากภาพนั้นเป็นภาพสำหรับการนำสู่บทเรียน อาจจะยังไม่สามารถให้ รายละเอียดได้มาก ในขณะที่หากภาพนั้นเป็นภาพที่ใช้เพื่ออธิบายสาระสำคัญของเนื้อหา ก็จำเป็นที่ จะต้องให้รายละเอียดเพิ่มเติม เป็นต้น (ดูรายละเอียดในหัวข้อการบรรยายภาพสำหรับสื่อภาพนิ่ง)

  1. การเลือกใช้คำในบทบรรยายภาพ

สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมากในการสร้างบทบรรยายภาพ คือ การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับทั้งตัว บทบรรยายภาพ และตัวผู้รับสาร (ในที่นี้หมายถึง นักเรียน นักศึกษา ระดับต่างๆ) ซึ่งโดยหลักการแล้ว บทบรรยายภาพที่ดี ควรมีการใช้คำที่กระชับ และทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากที่สุด รวมถึงการ หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อเฉพาะ คำศัพท์เฉพาะที่ไม่มีความจำเป็น (Snyder, 2016) ซึ่งในขณะเดียวกัน ภาษาที่ใช้ในบทบรรยายภาพ ยังต้องมีความสอดคล้องกับระดับภาษา และการใช้ภาษาของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้รับสารจากเสียงบรรยายภาพนั้นๆด้วย ซึ่งในกรณีนี้ บางครั้งการเลือกใช้คำ ในการบรรยายภาพที่มีความซับซ้อน หรือไกลออกไปจากประสบการณ์ของผู้รับสาร ผู้จัดทำบท บรรยายภาพก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้คำที่ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของผู้รับสารมากกว่า คำที่สื่อสารได้ตรงกับภาพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการสะดุดในการรับสารของผู้รับสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดการ เสียอรรถรสและเกิดความสงสัยตามมาได้ และยังคงสามารถให้ผู้รับสารที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็น นั้น สามารถจินตนาการได้อย่างใกล้เคียงที่สุดนอกจากนี้ ในเรื่องของการเลือกใช้คำ สำหรับการบรรยายภาพโดยทั่วไปแล้ว เพื่อทำให้เกิด สุนทรียภาพในการรับสาร ผู้สร้างสรรค์บทบรรยายภาพสามารถเลือกใช้การเปรียบเทียบ หรืออุปมา (Metaphor) มาช่วยได้ ซึ่งการอุปมาในบทบรรยายภาพนี้ สามารถทำให้ผู้รับสารที่เป็นผู้พิการทางการ มองเห็น เข้าใจความรู้สึกได้มากขึ้นด้วย (Snyder, 2016)

  1. การเลือกสื่อให้เหมาะสมกับการจัดทำเสียงบรรยายภาพ

บางครั้ง สื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หรือ Infographic ที่มีการทำไว้เป็นลักษณะ                                              ภาพเคลื่อนไหวพร้อมการให้เสียงพากย์ หรือบรรยาย (Narration) อยู่แล้ว อาจจะมีช่องว่างของเสียง ไม่เพียงพอต่อการให้เสียงบรรยายภาพ ซึ่งในส่วนนี้ การคัดเลือกสื่อภาพเคลื่อนไหวที่จะมาประกอบใน การเรียนการสอน ควรมีการคำนึงถึงส่วนที่เป็นช่องว่างของเสียง (Sound Gap) ที่เหมาะสมต่อการ จัดทำบทบรรยายภาพด้วย หรือหากจะพิจารณาลักษณะของรายการโทรทัศน์ที่เป็นประเภทรายการ ข่าว ซึ่งจัดว่าเป็นตัวอย่างของรายการโทรทัศน์ที่ไม่มีช่องว่างทางเสียงเพียงพอต่อการสร้างเสียง บรรยายภาพได้ ในขณะที่รายการประเภทละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ จะยังพอมีช่องว่างของเสียง เพื่อให้ผู้จัดทำบทบรรยายภาพได้สามารถสร้างบทบรรยายภาพแทรกเข้าไปได้อยู่ (ดูรายละเอียด เพิ่มเติมในหัวข้อ การสร้างเสียงบรรยายภาพสำหรับสื่อภาพเคลื่อนไหว)สำหรับภาพนิ่ง และ Data Visualization การจัดทำเสียงบรรยายภาพจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง ช่องว่างของเสียง เหมือนกับการสร้างบทบรรยายภาพสำหรับสื่อภาพเคลื่อนไหว ทั้งนี้ ผู้สร้างบท บรรยายภาพควรคำนึงถึงระยะเวลาที่ใช้บรรยายต่อภาพด้วย โดยไม่ควรนานเกิน 2-3 นาทีต่อภาพ (ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์, 2561) ซึ่งผู้สร้างบทบรรยายภาพควรคำนึงถึงความกระชับ และทำให้เห็นภาพ ได้เป็นหลัก

 

ทั้ง 6 ข้อดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักการโดยรวมของการสร้างเสียงบรรยายภาพ หรือ Audio Description สำหรับสื่อต่างๆ ทั้งนี้ การสร้างสื่อเสียงบรรยายภาพในแต่ละสื่อ ผู้จัดทำเสียงบรรยายภาพควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ของสื่อนั้นๆในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะมีการให้ลักษณะของเสียงบรรยายภาพที่มีความแตกต่างกัน ออกไปตามแต่วัตถุประสงค์ของภาพ หรือสื่อนั้นๆ

SHARE ON SOCIAL MEDIA :